


พัฒนาการ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตาย
“ข้อมูลสาเหตุการตาย” คือข้อมูลที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจเรื่องมาตรฐานการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตายที่ตรงกัน Continue reading

ของเสียอันตราย (Hazardous Waste)
ของเสียอันตราย (Hazardous Waste) “ของเสียอันตราย” เป็นวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วที่มีคุณสมบัติเป็นสารไวไฟ กัดกร่อน เกิดปฏิกิริยายาได้ง่าย มีสารพิษปะปนหรือมีตัวทำละลาย

เสียงสะท้อนของคนแม่ตาว: ความกลัวที่แท้
เกือบสิบปีที่แล้ว พื้นที่ 12 หมู่บ้านในตำบลพระธาตุผาแดงและตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการเจ็บป่วย

เสียงสะท้อนจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลคุณภาพชีวิตในเขตพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยม


จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลการศึกษาภาระโรคจากแคดเมี่ยมในพื้นที่ อ.แม่สอด เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมใน 3 ตำบล ในระหว่างวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลแม่สอด ในการประสานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของแต่ละพื้นที่ เพื่อนัดกลุ่มตัวอย่างมาสัมภาษณ์ รพ.สต 4 แห่ง ได้แก่ รพ.สต แม่ตาว รพ.สต แม่กุ รพ.สต แม่กุเหนือ รพ.สต พระธาตุผาแดง อสม. 12 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 34 คน ซึ่งมีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ทั้งหมด 326 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 408 คน
แม้จะพบข้อจำกัดในการลงพื้นที่ ในเรื่องของ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีปัญหาในการสื่อสารให้เข้าใจในข้อคำถาม และมีปัญหาเรื่องการได้ยินบางกลุ่มเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เข้าใจภาษาไทย ต้องใช้ล่ามในการแปลภาษา รวมถึงวิถีชีวิตบางกลุ่มไปทำงานนอกพื้นที่ ตอนเย็นหรือค่ำจึงจะกลับบ้าน จำเป็นต้องไปสัมภาษณ์ที่บ้าน โดยให้ อสม. พาไป ซึ่งต้องใช้เวลานานและกลับออกจากพื้นที่ที่ไปสัมภาษณ์ค่อนข้างดึก แต่คณะทำงานกลับมีกำลังใจและมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยทีมงานที่มีความทุ่มเท และการสนับสนุนที่ดี จากโรงพยาบาลแม่สอด และ เจ้าหน้าที่ทุกท่าน รวมถึงลุงป้านน้าอาชาวแม่สอดที่แสนน่ารักที่สละเวลาร่วมให้ข้อมูลตอบแบบสอบ ถามในการเก็บข้อมูลอย่างเต็มที่ 7 วัน ที่ได้อยู่ร่วมกันและลงพื้นที่
นอกจากข้อมูลคุณภาพชีวิตแล้ว คณะทำงานได้เรียนรู้ ได้ฟังเรื่องราวชีวิต ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้คนเรียนรู้ชุมชน ทุกความประทับใจ สร้างความมุ่งมั่นว่า ข้อมูลต่างๆ มากมายเหล่านี้จะนำกลับมาดำเนินการวิเคราะห์เพื่อสะท้อนให้คืนกลับสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาต่อไป

10 ความจริงกับสุขภาพคนไทย
หลังจากห่างหายไปนาน จึงได้แวะเวียนนำผลการศึกษา มาเล่าย่อๆ สกัดออกมา เป็น 10 เรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย จากการศึกษาภาระโรคและสุขภาพของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2552 ดังมีความจริงดังนี้

ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://www.dreamstime.com/royalty-free-stock-photos-concept-public-health-services-healthy-way-life-image2026488
1. คนไทย กับอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น
อายุขัยเฉลี่ยนับจากแรกเกิดของคนไทย เพิ่มขึ้นแต่ต้องอยู่อย่างเจ็บป่วย พิการมากขึ้นอายุขัยเฉลี่ยของชายอยู่ที่ 70.5 ปี หญิงอยู่ที่ 77.3 ปี แต่…อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี ของชายอยู่ที่ 64.5 ปี และหญิงอยู่ที่ 68.2 ปี ดังนั้น ชาย ต้องแบกรับภาระโรค โดยอยู่อย่างเจ็บป่วยพิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 6 ปี และหญิงอายุยืนกว่าชาย แต่สูญเสียมากกว่าชายถึง 3 ปี
2. คนไทย ตายไปจากสาเหตุอะไรเป็นอันดับสูงสุด
การตายจำแนกตามรายโรคของคนไทย ปี 2552 พบว่า ทั้งชายและหญิงเสียชีวิตด้วยสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 1 ในชาย ถึงร้อยละ 10.4 และ หญิง ร้อยละ 14.4 ของการเสียชีวิตทั้งหมดในชายและหญิงตามลำดับ
3. คนไทย ปีสุขภาพดีหายไป 10.2 ล้านปี
ในปี 2552 ชายไทยสูญเสียปีสุขภาพดี 5.8 ล้านปี (DALYs) และหญิงสูญเสีย 4.4 ล้านปี (DALYs) นับว่าชายสูญเสียมากกว่าหญิงถึง 1.3 เท่า เท่ากับว่า คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับภาระจากการเจ็บป่วย จากโรคต่างๆ รวมกันแล้วถึง 10.2 ล้านปี
4. คนไทย ในกลุ่มผู้ชายชีวิตที่สูญหายไปกับแอลกอฮอล์
ชายไทยในปี 2552 สูญเสียปีสุขภาพดีจากการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดถึงร้อยละ 9 จากการสูญเสียปีสุขภาพดีทั้งหมดในเพศชาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสูญเสียจากการต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยพิการ และมีภาวะบกพร่องทางสุขภาพ
5. คนไทย ในกลุ่มผู้หญิง กับข้อเท็จจริง กับโรคเบาหวาน
ปี 2552 โรคเบาหวาน เข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูงกับคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงไทย เป็นสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาพดีอันดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 8.6 ของการสูญเสียทั้งหมดในเพศหญิง และโรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 2 ในหญิงไทย
6. คนไทย วัยเด็ก ชีวิตเล็กๆ ที่ต้องสูญเสีย
การศึกษาการสูญเสียปีสุขภาวะดีในวัยเด็กแยกออกเป็น 2 กลุ่มอายุ คือ 0-4 ปี และ 5-14 ปี ซึ่งมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ในช่วงแรกจะสูญเสียปีสุขภาวะที่ ดีจากโรคที่เกิดในช่วงปริกำเนิดสำหรับในช่วงวัย 5-14 จะสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งเรื่องของการจมน้ำ และอุบัติเหตุจราจร เป็นหลัก
7. คนไทย วัยรุ่นว้าวุ่นกับวิกฤตทางสุขภาพจิต และอุบัติเหตุ
สาเหตุหลักของการสูญเสียปีสุขภาวะของ กลุ่มอายุ 15-29 ปี ได้แก่ กลุ่มโรคความผิดปกติทางจิตและอุบัติเหตุ ซึ่งในวัยรุ่นชาย คิดเป็นร้อยละ 62 และหญิงร้อยละ 36 จากการสูญเสียทั้งหมด ในกลุ่มอายุ 15-29 ปี
8. คนไทย วัยทำงานเผชิญกับการสูญเสียสุขภาพดีมากกว่าวัยอื่น
ปีที่มีสุขภาพดีของวัยนี้ หายไปสูงกว่าวัยอื่น เนื่องด้วย การสูญเสียปีสุขภาพดี ของกลุ่มช่วงอายุ 30 – 59 ปี จัดกว่าเป็นกลุ่ม ที่มีความสูญเสียถึง 4.5 ล้านปี โดยที่ชายจะสูญเสียมากกว่าหญิงถึง 1.6 เท่า ซึ่งสาเหตุหลักของการสูญเสียในชายจะมีความใกล้เคียงกันใน สี่อันดับแรกคือ ความผิดปกติทางจิต อุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด และ โรคติดเชื้อ ส่วนในหญิงช่วงวัยนี้ จะสูญเสียจากโรคมะเร็งมากที่สุด และรองลงมาคือ ความผิดปกติทางจิต โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน ตามลำดับ
9. คนไทย วัยชรา อ่อนล้ากับโรคเรื้อรัง
ช่วงกลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป็นช่วงวัยเดียวที่ชาย มีความสูญเสียน้อยกว่าหญิง และสาเหตุหลักทั้งชายและหญิงคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มโรคที่ทำให้สูญเสียปีสุขภาพดี ในวัยนี้จะเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด ต้อกระจก รวมถึงมะเร็งหลายๆ ชนิด
10. สุขภาพคนไทย ในระดับนานาชาติ
เมื่อเปรียบเทียบ การศึกษาของระดับโลก ทิศทางของสุขภาพ คนไทยจะ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไปภาพรวม ประเทศไทย มีความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อสูงสุด คล้ายกับประเทศในกลุ่มรายได้ตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป ซึ่งสัดส่วนการสูญเสียของกลุ่มประเทศที่มีรายได้แตกต่างกันจะมีรูปแบบที่แตก ต่างกัน ความแตกต่างจากประเทศในกลุ่มที่มีรายได้น้อย จะพบกลุ่มโรคติดต่อ เรื่องแม่และเด็ก และภาวะโภชนาการ เป็นลำดับความสูญเสียที่มากที่สุด
ฝากไว้กับความสูญเสียทางสุขภาพของคนไทยทั้ง 10 ข้อ แม้จะเป็นผลภาวะสุขภาพในอดีต แต่อดีตก็จะสะท้อนให้เกิดปัจจุบัน ดังนั้นหากไม่รักษาสุขภาพกันในวันนี้ ผลสะท้อนความจริงเกี่ยวกับสุขภาพคนไทยในอีกสิบปี อาจจะแย่ลงกว่านี้ก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย จักร์วิดา อมรวิสัยสรเดช

เหล้าละลายความคิด จิตวิญญาณของคนบนพื้นที่สูง หรือ เครื่องมอมเมา
“ตัวเราจะมีค่า ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่ตัวเราจะให้คุณค่ากับตัวเองอย่างไร”
ในพื้นที่เขตภาคเหนือ ชาวไทยเผ่าอาข่า มีประเพณีวัฒนธรรมอันสืบทอดกันมา เกี่ยวกับการใช้ เหล้า (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ) เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญและจำเป็นในการประกอบพิธีการต่างๆ อาทิ พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีขอขมาผู้อาวุโสในชุมชน งานมงคลสมรส พิธีขอขมาบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีโล้ชิงช้า และอื่นๆอีกมากมาย ที่เป็นการประกอบพิธีกรรม ตามประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อที่ปฎิบัติมาแต่ครั้งบรรพบุรุษของชาติพันธุ์ อ่าข่า อีกทั้งยังถือเป็นยารักษาโรค เพราะชาติพันธุ์อ่าข่าใช้เหล้าในการรักษาโรค เช่น ข้อเท้าแพลง ข้อกระดูกได้รับการกระทบกระเทือนเกิดอาการบวม ฟกช้ำใน เป็นต้น โดยท่องคาถาใส่ลงไปในเหล้า แล้วพ่นใส่ตามจุดที่ปวด 3 ครั้ง (หลักการทางไสยศาสตร์ ความเชื่อ และความสามารถพิเศษของหมอสมุนไพรพื้นบ้าน )

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.iamakha.com/
ความเชื่อและวัฒนธรรมที่ปฎิบัติสืบต่อการมายังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่…สิ่งที่ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับชาวบ้านใน ชุมชน หมู่ 7 ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พบว่า ปัจจุบันการดื่มเหล้านั้น มีเหตุผลและความเชื่ออยู่มากมายกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอด กันมา หลายคนดื่มเพราะเชื่อว่า ดื่มแล้วทำให้ตัวเองมีพลังมากขึ้น บางคนดื่ม เพราะเชื่อและรู้สึกว่า ช่วยบรรเทา อาการปวดเมื่อยร่างกายซึ่งส่วนใหญ่จะดื่มหลังจากกลับมาจากการทำไร่ ทำสวน และบางคนดื่ม เพราะเชื่อว่าสามารถแก้ไขปัญหาในชีวิต ปัญหาครอบครัว และแก้เครียดได้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือความเชื่ออะไรก็ตามสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพของคนไทยในพื้นที่สูงซึ่ง จากการศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บของคนไทยในระดับภูมิภาคโดยแบ่งตามเขตบริการสุขภาพใน เขต 1 คือ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน พบว่า ชายสูญเสียปีสุขภาวะจากการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากที่สุด ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันเป็นสิ่งที่มีค่าควรเก็บรักษาและมีเหตุมีผล แต่ความเชื่อที่ผิดๆ และไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล สิ่งที่ดีก็จะส่งผลกระทบไปในทางไม่ดีได้ เหล้าถ้าดื่มมากเกินไปจนปล่อยให้เป็นสิ่งมอมเมา อาจจะต้องพบกับ ความสูญเสียทางด้านสุขภาพ ไม่มีสติ และสิ่งที่อาจจะตามมา คือ ปัญหาครอบครัว และขยายสู่สังคม ขาดคนให้ความเคารพ นับถือ เป็นต้น
เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเรานั้น เดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ชาติพันธุ์อ่าข่ามีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ส่อหนะ จี้ถ่าด้อ” หมายความว่าเช้าตรู่อย่าดื่มเหล้า เพราะถ้าดื่มเหล้าจะเสียการงานและสุขภาพ
“การปรับเปลี่ยนทุกอย่างอยู่ที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเรา”
ยุวธิดา เยอส่อ มกราคม 2557
- 1
- 2