พัฒนาการ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตาย

พัฒนาการ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตาย

“ข้อมูลสาเหตุการตาย” คือข้อมูลที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจเรื่องมาตรฐานการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตายที่ตรงกัน และสามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ประเทศไทยก็จะสามารถนำงบประมาณด้านสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ในการแก้ปัญหาปัญหาสุขภาพของประชาชนได้อย่างตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ย้อนกลับไปเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจดทะเบียนการเกิดและตายครั้งแรกในปี 2452 โดยมีการนำร่องในเขตพระนคร ก่อนที่จะบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2459 จากนั้นจึงเริ่มมีการปรับปรุงข้อมูลสาเหตุการตายและปรับความเชื่อมโยงระหว่างระบบรายงานในทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยกับระบบรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเรื่อยมา โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการให้ได้มาซึ่งข้อมูลการตายที่ถูกต้องที่สุด

 

ต่อมาในปี 2541ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตาย เมื่อสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารสุข (สนย.) ได้ทำการศึกษาสาเหตุการตายของประชากรไทยที่เสียชีวิตใน 1 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2542 ใน 16 จังหวัดของประเทศไทย เพื่อปรับปรุงข้อมูลสาเหตุการตายให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย โดยผลการศึกษาในครั้งนั้นพบว่า ใบมรณบัตรที่ออกโดยสำนักทะเบียนกลางในอำเภอต่างๆ มีความถูกต้องเพียงร้อยละ 29.3 ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อการวางแผนพัฒนาสุขภาพของประเทศได้ สนย.จึงได้เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขว่า ควรมีการปรับปรุงคุณภาพข้อมูลการตายโดยการจัดทำคู่มือและฝึกอบรมแพทย์ให้เข้าใจการเขียนใบรับรองการตาย โดยเฉพาะในส่วนของการระบุสาเหตุการตายให้เป็นมาตรฐานตามระบบ ICD-10 ส่วนกรณีเสียชีวิตนอกสถานพยาบาลได้เสนอให้ญาตินำใบรับแจ้งการตายที่ได้จากผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน ไปที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลซักประวัติการเจ็บป่วยของผู้เสียชีวิต และค้นเวชระเบียน รวมทั้งให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอนั้นๆ เป็นผู้วินิจฉัยสาเหตุการตาย ก่อนที่ญาติจะนำใบรับแจ้งการตายไปขอใบมรณบัตรที่อำเภอ แต่ในเวลาต่อมาแพทย์ได้ยื่นเรื่องต่อแพทยสภาเพื่อขอระงับการวินิจฉัยสาเหตุการตายกรณีที่มีการเสียชีวิตนอกสถานพยาบาล เนื่องจากแพทย์ไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยโรคเองตั้งแต่ต้นจึงมีความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน   สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองจึงได้ชะลอแนวทางการปฏิบัตินี้ออกไปก่อน   ต่อมา สนย.จึงได้มีการปรับปรุงการพัฒนาคุณภาพข้อมูลสาเหตุการตายรูปแบบใหม่ ในปี 2553 โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล ลงบันทึกข้อมูลสาเหตุการตาย กรณีการตายตามธรรมชาติ นอกสถานพยาบาล ในใบรับแจ้งการตายแทนแพทย์ในโรงพยาบาลระดับอำเภอก่อนให้ญาตินำไปออกใบมรณบัตร แต่การปรับเป็นรูปแบบนี้ก็ยังคงสร้างปัญหาเรื่องการร้องเรียนและเพิ่มขั้นตอนให้ประชาชนต้องเสียเวลามากขึ้นเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขอบรมนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น และนายทะเบียนผู้รับแจ้งของกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอบสวนและลงข้อมูลสาเหตุการตายเองโดยตรง โดยมีกฎหมายทะเบียนราษฎรรองรับ จากนั้นจึงมีการขยายผลบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2558 และใช้รูปแบบนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการลงบันทึกข้อมูลสาเหตุการตาย กรณีการตายในสถานพยาบาล ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องมีการบันทึกหนังสือรับรองการตาย (ทร.4/1) ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ท เข้ามายังสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์โดยตรง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการรายงาน

อย่างไรก็ตามคุณภาพการลงข้อมูลสาเหตุการตายในปัจจุบันทั้งการตายในสถานพยาบาลและตายที่บ้านหรือนอกสถานพยาบาลก็ยังคงมีปัญหาเรื่องความถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่ถูกต้องมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด

แพทย์หญิงจันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และที่ปรึกษาสำนักนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ด้านการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตาย ได้กล่าวถึงประโยชน์และความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพข้อมูลสาเหตุการตายในประเทศไทยว่า

 การพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะข้อมูลสาเหตุการตายสามารถสะท้อนปัญหาสุขภาพและสังคมในประเทศไทยได้หลายประการ และมีความน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลการป่วย ดังนั้นหากเราสามารถลงข้อมูลสาเหตุการตายได้ตรงตามมาตรฐานถึง 70เปอร์เซ็นต์ เราจะสามารถนำข้อมูลสาเหตุการตาย มาใช้เป็นข้อมูลหลักในการลำดับความสำคัญปัญหาทางด้านสุขภาพ และข้อมูลการตายยังเผยให้เห็นปัญหาสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ที่สำคัญคือสามารถใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย การวางแผนงาน และจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เป็นจริงของประเทศมากที่สุด

อย่างไรก็ตามการพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตายในปัจจุบันก็ยังคงมีปัญหาที่รอให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยแพทย์หญิงจันทร์เพ็ญ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันแพทย์ยังไม่เห็นความสำคัญในการแก้ไขระบบการรายงานสาเหตุการตาย ทำให้ยังมีการลงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามหลักสากล ซึ่งการแก้ปัญหานี้จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข โดยนายทะเบียนจะต้องไปขอความร่วมมือกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลในการวางแนวทางให้แพทย์ลงข้อมูลการตายอย่างถูกต้อง เพื่อให้นายทะเบียนสามารถออกใบมรณบัตรได้ ส่วนกรณีการตายผิดธรรมชาติ เช่น อุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย ฆาตกรรม ภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นคดีอาญา จะต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันเรื่องมาตรฐานการลงข้อมูลสาเหตุการตายที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ พนักงานอัยการ และแพทย์ เพราะถ้าหากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีความเข้าใจเรื่องมาตรฐานการลงข้อมูลสาเหตุการตาย ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการลงข้อมูลได้ เช่น มีการลงข้อมูลว่า “ไม่ทราบสาเหตุการตาย” ซึ่งในทางกฎหมายอาญาแล้วจะไม่สามารถลงข้อมูลสาเหตุการตายแบบนี้ได้ หรือกรณีการตายที่มีผลประโยชน์จากเงินมรดก เงินประกันชีวิต และเงินประกันอุบัติเหตุ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจนำไปสู่การจูงใจให้ญาติร้องขอให้ตำรวจลงข้อมูลเท็จเพื่อรับผลประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหานี้

ส่วนแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาข้อมูลสาเหตุการตายในอนาคต กระทรวงสาธารณสุขควรเป็นเจ้าภาพเชิญชวนหน่วยงานราชการในกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักบริหารการทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด เข้ามาปรึกษาหารือกันเรื่องกฎหมายและทำความเข้าใจเรื่องแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้เกิดการใช้มาตรฐานเดียวกัน และอาจมีการนำเรื่องนี้เสนอเป็นวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการผลักดันในรูปแบบคณะกรรมการที่มาจากหลากหลายกระทรวง ซึ่งน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องนี้เพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ยังควรมีการจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติและจัดทำระบบการประเมินที่เป็นระบบ โดยการประเมินภายในกระทรวงสาธารณสุขควรให้การพัฒนาคุณภาพสาเหตุการตายเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินคุณภาพโรงพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชน และกระทรวงสาธารณสุขควรให้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาในการอบรมนายทะเบียน จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง

โดย รัตนศิริ  ศิรพาณิชย์กุล

………………