สาเหตุการตาย ข้อมูลที่สำคัญ จากคนทำงานกลุ่มเล็กๆ

สาเหตุการตาย ข้อมูลที่สำคัญ จากคนทำงานกลุ่มเล็กๆ

เรื่องเล่าเก็บมาฝากจาก การลงพื้นที่สุรินทร์ สาเหตุการตาย ข้อมูลที่สำคัญ จากคนทำงานกลุ่มเล็กๆ การลงพื้นที่เพื่อพัฒนาข้อมูลการตายในโรงพยาบาล วันที่ 12 – 14 มิถุนายน 2559 ณ โรงพยาบาลสุรินทร์

ข้อมูลสาเหตุการตายเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดนโยบายและจัดลำดับปัญหาสาธารณสุขเพื่อการควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ  สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพสาเหตุการตายในโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2541 โดยจัดอบรมบุคลากรที่รับผิดชอบ  และมีการติดตามเพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 12 – 14 มิถุนายน 2559 ทีมงานจากแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพ (BOD) ได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์นำโดย พญ.จันทร์เพ็ญ  ชูประภาวรรณ และ คุณชูจิตร  นาชีวะ ที่เป็นหัวเรือหลัก ลงพื้นที่ติดตามประเมินเรื่องการพัฒนาคุณภาพสาเหตุการตาย ในโรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ได้เรียนรู้และร่วมทำงานในการติดตามประเมินคุณภาพสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล

เมื่อมีการตายเกิดขึ้นในสถานพยาบาล  แพทย์ประจำโรงพยาบาลผู้ดูแลก่อนตายจะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตาย หรือ เรียกว่า ทร.4/1 เพื่อให้ญาตินำไปแจ้งการตาย ที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น และเชื่อมโยงระบบเข้าฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แม้จะมีการดำเนินการที่เป็นกระบวนการที่ชัดเจน แต่พบว่าปัจจุบันยังมีการให้สาเหตุการตายที่ไม่ถูกต้อง โดยมักให้เป็นรูปแบบการตาย(mode of death) ซึ่งเป็นคำที่แสดงถึงการหยุดทำงานของอวัยวะ เช่น หัวใจล้มเหลว  ทำให้ไม่สามารถทราบถึงปัญหาสุขภาพที่แท้จริงเพื่อการวางแผนได้  ขณะที่สาเหตุการตาย (underlying causes of deaths)ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก เป็นโรคที่เกิดขึ้น อันทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามต่อเนื่องกันมา จนนำไปสู่การเสียชีวิต หรือในกรณีการบาดเจ็บ สาเหตุการตาย คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุจราจร  ตกจากที่สูง ฆาตกรรมโดยใช้อาวุธปืน เป็นต้น

โรงพยาบาลสุรินทร์เป็นรพ.ศูนย์ 832[1] เตียง ให้บริการผู้ป่วยเฉลี่ย 1,958[2] คนต่อวัน การทำงานของเราเริ่มด้วยการทบทวนสรุปประวัติการรักษาผู้ป่วยที่เสียชีวิต และหนังสือรับรองการตาย โดยมีผู้เชียวชาญตรวจสอบความถูกต้องของการให้สาเหตุการตายจากประวัติการรักษาก่อนเสียชีวิต โดยทีมงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาล และได้มีโอกาสพบกับผู้อำนวยการรพ.อีกด้วย และเมื่อได้ผลการประเมินแล้วทีมงานก็คืนข้อมูลกลับให้ทางทีมรพ.สุรินทร์เพื่อใช้พัฒนาการทำงานต่อไป

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่า  ในการพัฒนาคุณภาพสาเหตุการตายนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่ให้การดูแลรักษาก่อนเสียชีวิตและสามารถให้การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุการตายที่แท้จริง อันจะนำไปสู่การวางแผนระบบสุขภาพที่ตรงเป้า สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง  และยังสะท้อนถึงคุณภาพการรักษาพยาบาลและระบบสุขภาพของประเทศ

ทีมงานของเราดีใจและภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพข้อมูลให้มีความถูกต้อง รวมทั้งเห็นถึงความพยายามและความตั้งใจของคนกลุ่มเล็กๆในสนย.ที่ร่วมมือกับบุคลากรในจังหวัด ซึ่งเป็นเพียงคนทำงานกลุ่มเล็กๆ และมีความหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้คุณภาพสาเหตุการตายของประเทศไทยจะดีขี้นและเป็นที่ยอมรับในทุกระดับ

224434

  • [1] ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ โรงพยาบาลสุรินทร์
  • [2] ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ โรงพยาบาลสุรินทร์

   นายภุชงค์ อินทร์ชัย เล่าเรื่อง