ทิศทางและการพัฒนาคุณภาพข้อมูลระบบทะเบียนราษฎร…

ทิศทางและการพัฒนาคุณภาพข้อมูลระบบทะเบียนราษฎรและข้อมูลสถิติชีพของประเทศไทย ในวันพุธ ที่ 29 มีนาคม 2566 กระทรวงสาธารณสุข โดย กองยุทธศาสตร์และแผนงาน และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

ร่วมกับภาคี/หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านระบบทะเบียนราษฎร์และสถิติชีพ (CRVS) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาคุณภาพข้อมูลระบบทะเบียนราษฎรและข้อมูลสถิติชีพของประเทศไทย :ทิศทางและการพัฒนาในอนาคต” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ และไวทัล แสตรทีจีส์ การประชุมนำเสนอผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลสาเหตุการตาย ทั้งการตายในและนอกสถานพยาบาล แชร์ประสบการณ์การดำเนินงานของจังหวัดนำร่อง และรับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และอภิปราย จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยได้รับเกียรติจากรองผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล เป็นประธานเปิดประชุม และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้นำอภิปราย พร้อมด้วยวิทยากร จากศูนย์เทคโนโลยีและสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ สำนักงานบริหารทะเบียน สมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจังหวัดนำร่อง ได้แก่ จันทบุรี อุบลราชธานี และสงขลา
ผลการประชุมสะท้อนทิศทางการพัฒนาคุณภาพข้อมูลสาเหตุการตายในสถานพยาบาล โดยการนำหนังสือรับรองการตาย ทร. 4/1 แบบอิเลกทรอนิกส์ (eMDC) มาทดแทนกระดาษ มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพหนังสือรับรองการตาย (MCCD audit) และการนำโปรแกรม IRIS เพื่อให้รหัส ICD-10 และสรุปสาเหตุการตายทดแทนเจ้าหน้าที่ให้รหัสและสรุปสาเหตุการตาย ตามกฎการให้รหัสและสรุปสาเหตุการตายขององค์การอนามัยโลก
การตายนอกสถานพยาบาล การพัฒนานำข้อมูลประวัติการรักษาก่อนเสียชีวิตเป็นข้อมูลสำหรับสรุปสาเหตุการตาย และการใช้เทคนิคการสัมภาษณ์ญาติ (Verbal Autopsy) สำหรับการตายนอกสถานพยาบาลที่ไม่มีประวัติการรักษาก่อนตาย การแชร์ประสบการณ์ของพื้นที่พบอุปสรรคร่วมกันคือ ภาระงานของแพทย์ เจ้าหน้าที่ขาดองค์ความรู้ การเปลี่ยนแปลง โยกย้ายของเจ้าหน้าที่ โดยการโอนย้ายหน่วยบริการไปยัง อบจ. เป็นอุปสรรคของการประสานและติดตามงาน
ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนา การเสริมองค์ความรู้ด้านสาเหตุการตาย เช่น หลักสูตรการเรียนการสอนด้านสาเหตุการตายในโรงเรียนแพทย์ โดยสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยร่วมขับเคลื่อน การนำ AI ช่วยคัดกรองและตรวจสอบคุณภาพของหนังสือรับรองการตายเพื่อลดภาระของแพทย์ จัดระบบและสารสนเทศของการดำเนินงานให้มีความสะดวกมากขึ้น
ข้อมูลสาเหตุการตายเป็นสิ่งสะท้อนปัญหาสุขภาพของประชากร เป็นข้อมูลสำหรับการประเมินติดตามผลการดำเนินงานของระบบสุขภาพ และการมีข้อมูลสาเหตุการตายที่ถูกต้องจะนำไปสู่การให้ความสำคัญในการกำหนดทิศทาง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัย ให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยูจำกัดให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพคนไทย