น่านและอีกหลายจังหวัดในลุ่มน้ำน่าน กำลังเผชิญกับฤดูฝนที่สาหัสกว่าฤดูฝนของปีก่อนๆ เพราะ “แม่น้ำสีแดง” ที่ชาวน่านคุ้นเคยกันในช่วงหลังฤดูฝน ของปีนี้ เต็มไปด้วยมวลน้ำและมวลดินที่มหาศาล ไหลรุนแรง เชี่ยวกรากกว่าปีที่ผ่านๆ มา นอกจากหายนะภัยทางกายภาพที่บ้านเรือน ข้าวของถูกน้ำและโคลนท่วม และซัดทำลายแล้ว ในน้ำและโคลนเหล่านั้นยังมีภัยที่มองไม่เห็นคือสารเคมีที่ตกค้างจากภาคเกษตรปนเปื้อนอยู่อีกด้วย
สารเคมีการเกษตรในลุ่มน้ำน่านและความเสี่ยงต่อสุขภาพ
โดยปกติแล้ว หลังฤดูฝนในจังหวัดน่าน มักจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “แม่น้ำสีแดง” ซึ่งเกิดจากการที่ตะกอนดินที่สะสมในพื้นที่ภูเขาถูกชะล้างลงสู่แม่น้ำหลังจากฝนตกหนัก ตะกอนเหล่านี้มาจากดินที่ถูกกัดเซาะจากการตัดไม้ทำลายป่าและการเกษตรที่ไม่ยั่งยืนในพื้นที่สูง ทำให้เมื่อน้ำท่วมและน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ ตะกอนดินเหล่านี้ก็จะทำให้น้ำกลายเป็นสีแดงเข้มอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่น่ากลัวคือตะกอนดินสีแดงเหล่านั้นมีสารเคมีทางการเกษตรปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ไกลโฟเซต ไนเตรท และฟอสเฟต ซึ่งเกษตรกรจะใช้ฉีดพ่นในพื้นที่การเกษตรในช่วงหน้าแล้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน สารเคมีเหล่านี้จะถูกชะล้างออกจากพื้นที่เพาะปลูกเข้าสู่แหล่งน้ำ ประกอบกับจังหวัดน่านมีภูมิประเทศที่สูงชันและมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตรกรรม ส่งผลให้เมื่อเกิดการไหลของน้ำที่รวดเร็วทำให้หน้าดินถูกชะล้างและสารเคมีแพร่กระจายไปยังพื้นที่กว้างขวางได้ง่าย และก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในพื้นที่อยู่อาศัยหรือบ้านเรือนได้
เคยมีการศึกษาการความเข้มข้นของสารเคมีทางการเกษตรในลุ่มน้ำน่าน และพบว่าปริมาณสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำช่วงท้ายน้ำจะสูงกว่าช่วงปลายน้ำ แสดงให้เห็นว่าเมื่อสารเคมีจากการเกษตรหลุดเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จะสะสมตัวในน้ำมากขึ้นตามการเดินทางของน้ำ และเมื่อศึกษาความเข้มข้นของสารเคมีในฤดูแล้งเปรียบเทียบกับฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกกว่ากลับพบว่าในพื้นที่เดียวกันปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีกลับสูงกว่าหรือเท่ากับความเข้มข้นในหน้าแล้ง ทั้งที่เป็นฤดูที่เกษตรกรใช้สารเคมีน้อยกว่า แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำน่าน ซึ่งภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงมีการกัดเซาะการพังทลายของหน้าดินที่มีสารเคมีการเกษตรปนปื้อนอยู่ ทำให้ “แม่น้ำสีแดง” จังหวัดน่านในหน้าฝน เต็มไปด้วยสารเคมีทางการเกษตรเช่นเดียวกัน และสารเคมีเหล่านั้นก็เดินทางมากับ “แม่น้ำสีแดง” เคลื่อนตัวสู่ลุ่มน้ำภาคกลางต่อไป
ไนเตรท ฟอสเฟต และไกลโฟเซต ล้วนเป็นสารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์สูงมาก ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท หากมีการสัมผัสหรือบริโภคสารเคมีเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งส่งผลให้สุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและโรคที่อาจมีผลร้ายแรงในระยะยาว ซึ่งประชาชนในแนวลุ่มน้ำน่านไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้นหรือไม่ก็ตามล้วนมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบ เพราะสารเคมีทั้ง 3 สามารถซึมเข้าสู่แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้
แผนภาพจะแสดงถึงความเข้มข้น และการแพร่กระจายเชิงพื้นที่ของทั้งสามเคมี โดยผลการศึกษาจะพบว่าความเข้มข้นโดยรวม หน้าแล้งจะมีความเข้มข้นที่สูงกว่าหน้าฝนอันด้วยเนื่องของการเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก แต่อย่างไรก็ตามปริมาณสูงสุดในหน้าฝนเฉพาะของไกลโฟเซต ใกล้เคียงกับหน้าแล้ง (3.09 และ 3.1 ไมโครกรัม/ลิตร ในฤดูแล้งและฝนตามลำดับ) บ่งบอกถึงปริมาณมวลของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มากขึ้น ถึงแม้ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นแต่ความเข้มข้นเท่าเดิม นอกจากนี้ลักษณะการแพร่กระจายของไนเตรทจะมีความเปลี่ยนแปลงไปโดยแสดงให้เห็นชัดขึ้นในช่วงตอนบน แสดงให้เห็นถึงปัญหาการกัดเซาะและการพังพลายของหน้าดิน โดยเฉพาะบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำ
ปี 2565 ผู้เขียนได้ทำการศึกษาการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ ของสารเคมีในลำน้ำน่านต่อประชาชนในพื้นที่และพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่มีค่าความเสี่ยงสูงกว่าเด็ก โดยเฉพาะบริเวณท้ายน้ำซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการที่ทำให้ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีมากกว่าเด็ก กลุ่มวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะสัมผัสสารเคมีมากขึ้น เนื่องจากการทำงานในภาคเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี ซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมของสารเคมีในร่างกายมากกว่าเด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือโรงเรียน
นอกจากนี้ ความหนาแน่นของประชากรวัยทำงานในบางพื้นที่ยังมีส่วนทำให้มีการสัมผัสสารเคมีในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมมีโอกาสได้รับสารเคมีจากการใช้งานโดยตรงและจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น หรือน้ำบาดาล และน้ำดื่ม ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น
การเดินทางของสารเคมีทางการเกษตรจากลุ่มน้ำน่านสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
วันนี้น้ำจากลำน้ำน่าน กำลังเดินทางมุ่งลงทิศใต้มาเรื่อยๆ ผ่านทางเขื่อนสิริกิติ์ และลำน้ำสาขาต่างๆ คาดว่าจะถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ภาคกลางในไม่ช้า แน่นอนว่า “แม่น้ำสีแดง” จากลำน้ำน่าน มิได้พาเพียงน้ำและโคลนมา หากแต่พาสารเคมีการเกษตรมาให้กับลุ่มน้ำภาคกลางด้วย เพียงแต่ในวันนี้การศึกษาการเดินทางของสารเคมีทางการเกษตรจากลุ่มน้ำน่าน รวมถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ในภาคเหนือมาสู่ลุ่มน้ำภาคกลางยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ทำให้ภาพการเดินทางของสารเคมีทางการเกษตรจากลุ่มน้ำน่านสู่ลุ่มเจ้าพระยายังไม่ปรากฏให้เห็นชัด
ในฐานะนักวิจัย ผู้เขียนอยากเห็นการนำแบบจำลองอุทกวิทยา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจและคาดการณ์พฤติกรรมของน้ำในลุ่มน้ำ มาใช้ศึกษาการเคลื่อนย้ายสารเคมีเกษตรจากลุ่มน้ำภาคเหนือสู่ลุ่มน้ำภาคกลาง
แบบจำลองอุทกวิทยาเป็นการจำลองกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำ ซึ่งรวมถึงการไหลของน้ำบนพื้นผิว การซึมผ่านของน้ำลงสู่ชั้นดิน และการระเหยของน้ำ การศึกษาแบบจำลองเหล่านี้สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการไหลของน้ำและสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำ ตั้งแต่แหล่งที่มาจนถึงที่ปลายทาง ในกรณีของลุ่มน้ำเจ้าพระยา การใช้แบบจำลองอุทกวิทยาเพื่อศึกษาการเคลื่อนย้ายสารเคมีเกษตรที่มาจากแม่น้ำน่านและแหล่งน้ำอื่นๆ ในภาคเหนือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเข้าใจว่า สารเคมีเหล่านี้ถูกพัดพาไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างได้อย่างไร และกระบวนการใดที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายของสารเคมี เช่น การชะล้างจากฝนตกหนัก การกรองผ่านดิน และการสะสมในแหล่งน้ำ ซึ่งนั่นหมายถึงเราจะสามารถประเมินความเสี่ยงของสารเคมีตกค้างจากภาคเกษตรต่อสุขภาพประชาชนในลุ่มน้ำภาคกลางได้ชัดเจนขึ้น การเฝ้าระวังเตรียมรับมือก็จะทำได้ง่ายขึ้น
ชยุตม์ พินิจค้า
สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
References:
- Hernandez, J., et al. (2019). “Agricultural Chemical Runoff and Its Effects on River Basins.” Environmental Science Journal, 45(3), 235-249.
- Zhou, X., et al. (2021). “Impact of Pesticides on Freshwater Ecosystems: A Review.” Journal of Ecotoxicology, 34(7), 579-592.
- Smith, R., et al. (2018). “Long-Term Health Effects of Pesticide Exposure: A Systematic Review.” Public Health Reports, 133(2), 120-134.
- Wang, L., et al. (2020). “Neurotoxic Effects of Chronic Pesticide Exposure.” Neurotoxicology, 75, 72-83.
Xu, X., et al. (2017). “Exposure to Pesticides and the Associated Health Risks among Agricultural Workers: A Review.” Environmental Research and Public Health, 14(5), 497. - Burchiel, S. W., et al. (2019). “Risk Assessment of Chemical Exposure in Rural and Agricultural Communities.” Toxicology Letters, 309, 30-38.
- Garry, V. F., et al. (2015). “Pesticide Exposure and Children’s Health.” Journal of Environmental Health Perspectives, 123(8), 759-765.
- Fan, A. M., et al. (2020). “Chemical Exposure and Health Risks: A Critical Review of the Literature.” International Journal of Environmental Research and Public Health, 17(3), 1123.
Credit : https://prachatai.com/journal/2024/09/110540