เสียงสะท้อนของคนแม่ตาว : ความกลัวที่แท้
โดย ณัฐวัณย์
เกือบสิบปีที่แล้ว พื้นที่ 12 หมู่บ้านในตำบลพระธาตุผาแดงและตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการเจ็บป่วยเรื้อรังอย่างโรคไต มะเร็ง นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และกระดูกพรุน แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมทั้ง 6 หมู่บ้านทำให้หน่วยงานราชการรวมทั้งบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจอยู่ใน พื้นที่ต่างให้ความสำคัญและเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด แม้ค่าชดเชยหรือความช่วยเหลือทั้งหมดอาจไม่ครอบคลุมหรือสร้างความพอใจให้กับ ทุกคนได้ก็ตาม โดยเฉพาะข้อเสนอที่ขอให้ชาวบ้านห้ามปลูกพืชที่เป็นห่วงโซ่อาหารเพราะสารแคดเมี่ยมที่ตกค้างในดินและน้ำอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งคนปลูกและคนกิน
ช่วง 2-3 ปีแรกที่มีข่าวการปนเปื้อนแคดเมี่ยมในดินและในลำน้ำสายหลักของหมู่บ้าน ชาวนาหลายคนถึงกับวางคันไถแล้วหันมาปลูกพืชชนิดใหม่อย่าง “อ้อย” ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริม บางคนผันตัวเองไปใช้แรงงานรับจ้างในตัวเมืองแม่สอด เรียกได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนอาชีพกันขนานใหญ่ในหลายครอบครัว เพราะหากมีคนรู้ว่าข้าวที่นำไปขายปลูกในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมก็ จะขายไม่ได้ จากคนที่เคยทำนาจึงต้องปรับเปลี่ยนมาทำไร่อ้อยหรือพืชอย่างอื่นซึ่งต้อง อาศัยกระบวนการ เครื่องมือ และมีรอบการผลิตที่ต่างไปจากเดิม ทั้งยังมั่นใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมาจะขายได้ทั้ง หมดหรือไม่ เพราะแม้จะมีโรงงานประกาศรับซื้อผลผลิตแน่นอน แต่กระบวนการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยก่อนจะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลรองรับก็ทำ ให้อดีตชาวนาที่พลิกผันมาเป็นชาวไร่รู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพทำอ้อยกันสัก เท่าไร
นอกจากวิถีการผลิตที่ต้องปรับเปลี่ยน ในฐานะที่ยังต้องบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก บางครอบครัวต้องหาซื้อข้าวจากพื้นที่อื่นที่ไม่มีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมหรือ เลือกซื้อข้าวถุงติดยี่ห้อซึ่งวางจำหน่ายตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าและมี ราคาแพงกว่ามารับประทานแทนข้าวในนาตนเอง ไม่เพียงเฉพาะข้าวที่ใช้น้ำจากห้วยแม่ตาวหรือห้วยแม่กุเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธ พืชผักสวนครัวที่ปลูกโดยใช้น้ำจากห้วยสองสายนี้ก็ถูกปฏิเสธจากคนซื้อด้วย เช่นกัน เพราะ “พอคนรู้ ก็ขายไม่ได้” ทั้งอาชีพทำนาปลูกข้าวและปลูกผักซึ่งเคยเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านจึง ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่นำความเจ็บช้ำใจมาให้ชาวบ้านมากไปกว่าการต้องซื้อข้าวจาก ที่อื่นมากินบนแผ่นดินตัวเอง
ส่วนอาชีพใหม่อย่างการปลูกอ้อย ด้วยเงื่อนไขที่ต้องปลูกบนพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากจึงจะ ถึงจุดคุ้มทุนทำให้ชาวบ้านหลายคนล้มเลิกอาชีพปลูกอ้อยแล้วหันกลับมาปลูกข้าว ตามเดิม เหตุเพราะ “พื้นที่น้อย ปลูกอ้อยไม่คุ้ม” แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าข้าวที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมซึ่งมิได้ลดน้อยหายไปไหน แต่ชาวบ้านหลายคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “แคดเมี่ยมไม่กลัว แต่กลัวอดข้าว”
สำหรับชาวบ้านที่นี่ คำว่า “แคดเมี่ยม” ไม่เพียงสื่อความหมายให้รู้ว่าคือสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในดินและในลำน้ำสาย หลักประจำหมู่บ้านเท่านั้น แต่มีอีกหลายคนที่เข้าใจหรือตีความไปว่าแคดเมี่ยมคือ “โรค” ชนิดหนึ่งที่เป็นแล้วต้องไปหาหมออย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมีชาวบ้านหลายคนเอ่ยปากอย่างไม่ปิดบังว่า ตัวเอง “เป็นแคดเมี่ยม” ซึ่งตรงกับสิ่งที่ปรากฏอยู่บนบัตรผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแม่สอดออกให้เมื่อครั้งมีการคัดกรองผู้ป่วยใหม่ๆ ว่าคือ “บัตรผู้ป่วยแคดเมี่ยม” แต่เมื่อซักถามชาวบ้านต่อว่าคือโรคอะไร มีอาการอย่างไร ก็แทบไม่ได้คำตอบชัดเจนจากปากชาวบ้าน เช่นเดียวกับอาการปวดเมื่อยตามข้อหรือเจ็บกระดูกที่หลายคนไม่อาจแยกแยะได้ ว่าเป็นสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของแคดเมี่ยม หรือเป็นภาวะเสื่อมของร่างกายที่เกิดจากการทำงานหนักมายาวนานตลอดชีวิต
ผ่านไปแล้วเกือบสิบปี ชาวบ้านส่วนใหญ่คลายความกังวลไปมากกับเรื่องแคดเมี่ยม จนถึงกับพูดว่า “ไม่
มีอะไรต้องกังวล ถึงแม้ตรวจเจอว่าเสี่ยงก็ไม่กลัว” ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขที่ก้าวหน้าขึ้นกว่า สมัยก่อน หรือเป็นเพราะความมั่นคงทางจิตใจที่ได้รับจากการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อ เนื่องสม่ำเสมอ แต่เป็นเพราะสภาวะข้างในจิตใจที่ส่งเสียงกระทุ้งออกมาดังๆ ว่า “ตอนนี้ไม่ได้กลัวแล้ว อะไรจะเกิดก็เกิด ทุกวันนี้อยู่ด้วยความหวังเพื่อลูกเพื่อหลาน” ที่น่าสังเกตก็คือเสียงเหล่านี้มาจากผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่
แต่ถึงกระนั้น หลายคนที่ยังไม่ก้าวเข้าสู่วัยชราก็ไม่ได้มีท่าทีสะทกสะท้าน วิตกกังวล หรือหวาดกลัวกับสารปนเปื้อนที่ชื่อแคดเมี่ยมมากเหมือนเมื่อเป็นข่าวในยุคแรกๆ หากมองโรคภัยที่กำลังประสบหรือภาระโรคที่เกิดขึ้นว่าเป็น “ภาวะปกติ” ที่ต้องเผชิญ หลายคนจึงไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนกับแคดเมี่ยมมากไปกว่าปัญหาปากท้องในชีวิตประจำวัน ดังคำพูดของชาวบ้านคนหนึ่งที่บอกด้วยน้ำเสียงวิตกว่า “กังวลว่าเขาจะไม่ให้ปลูกข้าว เพราะจะไม่มีกิน”
เรื่องปากท้องของชาวบ้านยังเป็นเรื่องหลักที่วิ่งนำหน้าเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ ตราบใดที่รายได้หรือภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือนยังไม่สัมผัสกับความมั่นคง และคงไม่มีสิ่งใดที่สำคัญไปกว่า เมื่ออยู่ๆ ผืนนาที่เคยปลูกข้าวและสืบทอดมายาวนานหลายชั่วอายุถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ ปนเปื้อนแคดเมี่ยมและ ถูกสั่งห้ามไม่ให้ปลูกอีกต่อไป แม้จะมีค่าชดเชยหรือแนวทางแก้ไขปัญหาก็มิอาจเป็นหลักประกันในระยะยาวให้กับ ชีวิตที่ไร้ทางเลือกนี้ได้ หลายครอบครัวจึงตัดสินใจทยอยกลับมาปลูกข้าวหรือผักไว้บริโภคเองอีกครั้ง แม้รู้ทั้งรู้ว่าเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับบางคนในหมู่บ้านที่หันมาซื้อข้าวและผักที่ปลูกได้ในพื้นที่ปน เปื้อนเหล่านี้เช่นเดิม
ไม่มีใครบอกได้ชัดว่าผลกระทบจากการที่ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมจะ ปรากฎผลรุนแรงขึ้นเมื่อใด เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านหลายคนก็ไม่ได้สนใจจริงจังว่าจะมีนโยบายใดของหน่วย งานใดเข้ามาบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้าง ชาวบ้านส่วนใหญ่จำไม่ได้หรือแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าความช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็น โครงการอะไรของใคร การแก้ปัญหาโดยไม่ละเลยเรื่องปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ควบคู่ไปกับการ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นระบบภายในหมู่บ้าน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้และทำการสื่อสารสร้างความเข้า ใจระหว่างหน่วยงานกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและ สม่ำเสมอต่างหากที่จะขจัดความกลัวที่แท้ไปจากใจของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ได้จริง
ขอบคุณภาพจาก โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม