ประวัติความเป็นมา BOD (ประเทศไทย)

ที่มาและความสำคัญ

ดัชนีประเมินภาระทางสุขภาพของประชากรไทย
ดัชนีภาระสุขภาพ/ดัชนีภาระสาธารณสุข (health burden/public health burden) เป็นเครื่องชี้วัดความสูญเสียของสุขภาพของประชากรที่เกิดขึ้นจากการมีสุขภาพ ที่ไม่สมบูรณ์ โดยครอบคลุมทั้งความสูญเสียของสุขภาพจากการตายและการเจ็บป่วยหรือมีชีวิต อยู่อย่างพิการ เครื่องชี้วัดหรือดัชนีที่แสดงภาระสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่ อัตราตายรายโรค ปีสุขภาวะที่สูญเสีย คุณภาพชีวิตที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ปีชีวิตที่มีความพิการ และปีชีวิตที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังรวมถึงอายุคาดเฉลี่ยที่ปราศจากความพิการ อายุคาดเฉลี่ยที่ปรับด้วยภาวะพิการ/ที่มีสุขภาพสมบูรณ์

ดัชนีประเมินภาระสุขภาพที่สำคัญชนิดหนึ่งที่สามารถประเมินภาระทางสุขภาพ อย่างเป็นองค์รวม ทั้งการตายและการเจ็บป่วยพิการ ซึ่งพัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับธนาคารโลกและองค์การ อนามัยโลกตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ดัชนีปีสุขภาวะที่สูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควรและการมีชีวิตอยู่ด้วยความ พิการหรือสุขภาพไม่สมบูรณ์ ที่รู้จักในชื่อ DALY(Disability-Adjusted Life Year) ที่สามารถจำแนกความสูญเสียทางสุขภาพตามโรคและปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพได้ และดัชนีที่แสดงถึงความคาดหมายของการมีสุขภาพที่ดีของชีวิต ได้แก่ HALE (Health-Adjusted Life Expectancy) ที่แสดงถึงความยืนยาวของชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี แต่ไม่สามารถจำแนกสาเหตุของความบกพร่องทางสุขภาพได้โดยตรง

ดัชนีภาระสุขภาพนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนานโยบายและวางแผนการ ดำเนินการด้านสุขภาพ เนื่องจากดัชนีตัวนี้สามารถวัดผลลัพธ์ทางสุขภาพ (health outcomes) ให้เป็นหน่วยเดียวกันที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งครอบคลุมทั้งการตายและการเจ็บป่วยรวมทั้งความพิการที่มาจากโรค การบาดเจ็บ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สามารถสะท้อนผลลัพธ์ทางสุขภาพจากบริการสุขภาพในด้านการเพิ่มคุณภาพชีวิตนอก เหนือจากจำนวนหรืออัตราความเจ็บป่วยเท่านั้น โดยนำไปใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาทางสุขภาพ เพื่อแสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหา กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานและจัดสรรทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาอย่างมี ประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้ติดตามผลลัพธ์ของระบบสุขภาพในการบรรลุเป้าหมายของการทำให้ประชากร มีสุขภาพดีขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีดังกล่าวยังสามารถเชื่อมโยงกับความเสี่ยงทางสุขภาพ และปัจจัยกำหนดทางสังคม (social determinants of health) ได้ต่อไปอีกด้วย

ข้อมูลภาระทางสุขภาพของประชากรที่ถูกต้องและต่อเนื่องมีความสำคัญในการ บ่งชี้ขนาดและความสำคัญของปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต่อการจัดสรรทรัพยากรและการ จัดลำดับความสำคัญของการควบคุมป้องกันโรคในการจัดการปัญหาสุขภาพของประเทศ อีกทั้งเป็นข้อมูลสำคัญในการใช้ประเมินเทคโนโลยี, ผลกระทบจากนโยบายและมาตรการทางสุขภาพต่างๆ ซึ่งในกระบวนการวางแผนสาธารณสุขของประเทศจำเป็นต้องมีข้อมูลที่แสดงภาระทาง สุขภาพของประชากรในภาพรวมที่มีความแม่นตรงและสามารถเชื่อมโยงให้เกิดการนำไป ใช้ในการกำหนดและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของประเทศได้

การดำเนินงานที่ผ่านมาในการพัฒนาดัชนีภาระสุขภาพ
ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเครื่องชี้วัดภาระโรค DALY ในระดับชาติ โดยคณะทำงานที่แต่งตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้ทำการศึกษาสำเร็จลงแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2542, 2547 และอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาภาระโรคของปี 2552 โดยสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นแกนกลาง

การศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทยครั้งที่หนึ่งโดยกระทรวง สาธารณสุข ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียและองค์การ อนามัยโลก ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นภาระโรคเชิงปริมาณและปัจจัยเสี่ยงที่กำหนดภาระโรค เหล่านั้นที่ชัดเจนและสามารถเปรียบเทียบภาระจากโรคและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ส่งผลให้มีการเกิดขึ้นของงานวิจัยและความพยายามในการพัฒนาฐานข้อมูลชุดต่างๆ ทั้งการป่วยและการตายเพื่อให้การวัดภาระโรคมีความแม่นยำมากขึ้น จากหลากหลายสถาบันนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา[1] และในปี 2547 ได้มีโครงการระยะที่ 2 เพื่อปรับปรุงผลการศึกษาฯ และศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องตามมา ทั้งการศึกษาภาระโรคในระดับเขตสาธารณสุข การพัฒนาค่าถ่วงน้ำหนักความพิการ การคาดการณ์ภาระโรคในอนาคต การประมาณอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี และการประมาณภาระจากปัจจัยเสี่ยงตามกลุ่มรายได้

ผลการศึกษาที่ได้ถูกนำไปใช้ในเชิงนโยบายหลายประเด็น เช่น โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพนำข้อมูลภาระโรคและภาระโรคที่เกิด จากปัจจัยเสี่ยง ไปใช้ในการสร้างแบบจำลองทางระบาดวิทยา ในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายเพื่อลดภาระ โรคหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตจากมาตรการทางสุขภาพต่างๆ และการศึกษาต้นทุนทางสังคม (social cost) จากปัจจัยเสี่ยง ข้อมูลภาระจากปัจจัยเสี่ยง (burden attributable to risk factors) ต่างๆถูกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายของศูนย์วิจัยสุรา ศูนย์วิจัยการบริโภคยาสูบ เป็นต้น รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งใช้ข้อมูล 10 อันดับแรกของภาระโรคในการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนด้านสุขภาพ รวมทั้งในการจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อลดโรคและปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ในลำดับ สูง

ปัจจุบันการพัฒนาดัชนีภาระโรคดังกล่าว จัดทำในรูปแบบโครงการซึ่งมีโครงสร้างการทำงานที่ประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงาน กรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการเฉพาะด้าน โดยฝ่ายเลขานุการอยู่ในสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และคณะทำงานเฉพาะกิจที่สมาชิกของคณะทำงานมาจากหลายหน่วยงานของกระทรวงสาธารณ สุขตามความสนใจระดับบุคคล แต่ไม่มีพันธกิจและความรับผิดชอบในระดับองค์กร

ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ภาระโรคและปัจจัยเสี่ยง มาจากการรวบรวมข้อมูลทางสุขภาพจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งข้อมูลหลักที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลประชากร ข้อมูลการตาย ข้อมูลการใช้บริการผู้ป่วยใน ข้อมูลการตรวจวัดชีวเคมีและพฤติกรรมเสี่ยง ข้อมูลความพิการและข้อมูลการให้บริการที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันข้อมูลที่แสดงภาระทางสุขภาพเหล่านี้ถูกเก็บและรวบรวมโดยหลาย หน่วยงานและสถาบัน เช่น สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลภาระทางสุขภาพตามภารกิจ และดัชนีวัดความสำเร็จของแผนงานที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ

ในบางครั้งข้อมูลตัวชี้วัดตัวเดียวกันที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลที่จัดเก็บ โดยหน่วยงานที่ต่างกันพบว่าข้อมูลที่เก็บได้นั้นมีค่าแตกต่างกันอย่างมาก เหตุผลหนึ่งอาจจะเนื่องจากการกำหนดนิยามของตัวชี้วัดที่ได้มาแตกต่างกัน วิธีการสำรวจและประชากรเป้าหมายที่แตกต่างกันของแต่ละการสำรวจฯ ทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจเลือกใช้ข้อมูลเพื่อการกำหนดนโยบายและจัดทำแผน สาธารณสุขของประเทศ5

ข้อมูลซึ่งใช้แสดงภาระสุขภาพเหล่านี้ จะมีประโยชน์อย่างยิ่งหากมีการเก็บรวบรวมที่เป็นระบบและนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อแสดงภาระทางสุขภาพของประชากรไทยอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง แต่มีการศึกษาที่ประเมินระบบข้อมูลเหล่านี้ว่ายังขาดการประสานงานและการมี ส่วนร่วมของผู้จัดเก็บข้อมูล ขาดผู้รับผิดชอบที่ต่อเนื่องและกำลังคน หน่วยงานหลักในปัจจุบันที่ดูจะมีบทบาทอยู่บ้างในการประสานงานเกี่ยวข้องกับ ระบบข้อมูลที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ คือสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขแต่ยังขาดความชัดเจนในทิศ ทางการพัฒนาระบบข้อมูลฯ ของประเทศในระยะยาวและขาดความต่อเนื่องในการได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบาย อย่างชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข

วาระที่ยังไม่บรรลุผล: ข้อจำกัดของการศึกษาในระยะที่ผ่านมา
การ ศึกษาในระยะที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดที่ต้องการการพัฒนาต่อไปซึ่งประกอบ ด้วยข้อจำกัดด้านวิชาการ และข้อจำกัดด้านปฏิบัติการ ดังต่อไปนี้

  1. ด้าน ข้อมูลนำเข้าที่ใช้ในการวิเคราะห์ภาระ โรค มีปัญหาการมีข้อมูลที่ต่อเนื่อง เป็นมาตรฐานเดียวกัน และความถูกต้อง โดยเฉพาะปัญหาความถูกต้องของข้อมูลสาเหตุการตายในมรณบัตรที่ยังคงเป็นปัญหา สำคัญในการประมาณค่าภาระโรค ซึ่งข้อมูลการตายรายสาเหตุเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของภาระโรคทั้งหมด ปัจจุบันสัดส่วนการตายที่สาเหตุไม่แจ้งชัดยังคงสูงถึงร้อยละ 38 ของการตายทั้งหมด ซึ่งการปรับสาเหตุการตายในมรณบัตรด้วยการสอบสวนสาเหตุการตายด้วยการสัมภาษณ์ ประวัติผู้ตาย (Verbal Autopsy: VA) ไปเรื่อยๆเป็นการลงทุนที่สูงมากสำหรับประเทศรายได้ปานกลางและมีเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นกว่า จึงควรต้องพัฒนาแนวทางการศึกษาที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ในการ ปรับสาเหตุการตายจากมรณบัตร
  2. คำถามใหม่ทางการวิจัย
    • ปัญหา สุขภาพสำคัญที่มีแนวโน้มเพิ่มสูง ขึ้น เป็นความท้าทายต่อสุขภาพประชากรและการพัฒนาประเทศ แต่ไม่ได้อยู่ในการศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงที่ผ่านมา เช่น ปัญหาโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ สภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การใช้สารเคมีในการเกษตรและการปนเปื้อนในอาหาร ความรุนแรงจากความขัดแย้งในสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ โรคจากสิ่งแวดล้อมและการประกอบอาชีพ เป็นต้น
    • การประเมินความแตก ต่างของภาระโรคและ สุขภาพระหว่างกลุ่มประชากรในระดับ เศรษฐานะ อาชีพ หลักประกันสุขภาพ และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เป็นประเด็นการศึกษาที่ต้องพัฒนาต่อไป เพื่อเชื่อมโยงกับการนำไปใช้ในเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับปัจจัยกำหนดทางสังคม
    • การ ศึกษาภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อ ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากโรคหรือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญบางประเภท การศึกษาการเปลี่ยนแปลงภาระโรคเพื่อตอบคำถามต่อผลของการดำเนินการทางสุขภาพ บางอย่าง เหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้การศึกษาให้มีความสอดคล้องกับประเด็นทางนโยบาย และได้ถูกนำไปใช้มากขึ้น
  3. ความทันสมัยและทันต่อเวลาในการนำไปใช้ โดยที่ผ่านมาความถี่ในการจัดทำลำดับของภาระโรคเป็นระยะ 5 ปี ซึ่งมีเหตุผลว่า ระบาดวิทยาของโรคไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงระยะ 5 ปี และข้อมูลที่จัดทำน่าจะใช้ได้ในระยะดังกล่าว เนื่องจากการประมาณค่าภาระโรคนั้นใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ขณะที่พบว่าการจัดทำแผนและนโยบายมีการเปลี่ยนแปลงทุกปีงบประมาณและต้องการ ข้อมูลเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนทุกปี จึงประสบปัญหาว่าผู้บริหารต้องการใช้ข้อมูลในปีใกล้เคียงมากกว่านั้น อีกประการหนึ่งการใช้ข้อมูลที่เป็นชุดเดียวกันในระยะ 5 ปีในการสื่อสารสาธารณะจะไม่เป็นที่สนใจของสื่อสารมวลชน
  4. การศึกษาภาระโรคในระยะที่ผ่านมายังมีข้อ จำกัดในการสื่อสารโดยตรงกับสาธารณะและผู้กำหนดนโยบาย ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหาซึ่งการศึกษาที่ผ่านมายังคงยากต่อการทำความเข้า ใจสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีหน้าที่ตัดสินใจในเชิงนโยบาย การสื่อสารนี้เป็นกลไกที่สำคัญในการถ่ายทอดสาระจากการศึกษาไปสู่การใช้ ประโยชน์เชิงนโยบายและการขับเคลื่อนสังคมด้วยหลักฐานความรู้ ซึ่งสารที่จะใช้สื่อสารกับสาธารณชนโดยทั่วไปจำเป็นต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม กับผู้รับและควรมีนักสื่อสารมืออาชีพสนับสนุนการดำเนินการเรื่องนี้
  5. การใช้ประโยชน์จากการศึกษาภาระโรคในกระบวน การนโยบายยังคงมีความจำกัดในปัจจุบัน โดยเป็นการใช้เพื่ออ้างอิงถึงสถานการณ์มากกว่าการใช้เพื่อการตัดสินใจจัดสรร ทรัพยากรโดยตรง เช่น สปสช.ยังคงใช้เพียงข้อมูลจำนวนประชากร และการใช้บริการในการจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น ขณะที่การศึกษาภาระโรคยังสามารถพัฒนาให้มีรูปแบบที่หลากหลายและขยายกลุ่ม เป้าหมายในการสื่อสารได้มากขึ้นอีก เช่น ใช้ข้อมูลการจัดลำดับภาระโรคในการจัดสรรทรัพยากรหรือ เปลี่ยนแปลงการจัดสรรทรัพยากร(reallocation) ในการวางแผนและบริหารจัดการระบบสุขภาพ การเปรียบเทียบภาวะสุขภาพในกลุ่มประชากรต่างๆ เพื่อดูความเป็นธรรมทางภาวะสุขภาพ การพยากรณ์ภาวะสุขภาพในอนาคตของประเทศไทย การศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อสุขภาพของ ประชากร เพื่อวางแผนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งประเมินความสูญเสียหรือภาระทางเศรษฐกิจจากปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจาก ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

ดัชนีประเมินภาระสุขภาพของประชากรไทยที่ทันสมัย
ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 อยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยาสามแบบที่ปรากฏซ้อนทับในเวลาเดียวกัน[vi] (รายละเอียดในภาคผนวก 2) ในยุคที่มีการเคลื่อนย้ายของคน แรงงาน สินค้าและบริการ ทุน และข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว การเผชิญกับความท้าทายทางภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งระหว่างสังคมและวัฒนธรรม การระบาดของโรคติดต่อจากคนและสัตว์ข้ามพรมแดนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการ ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างเต็มตัวจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ประชากร

ระบบสุขภาพต้องเตรียมพร้อมที่จะรองรับกับภาระซ้ำ ซ้อน ทั้งปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นไปตามวัยที่สูงขึ้นและความพิการในผู้ สูงอายุ โรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำและโรคติดต่อร้ายแรงในประชากรบางกลุ่ม   ปัญหาการบาดเจ็บจากการขนส่งและความรุนแรงในสังคม ตลอดจนปัญหาสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมและการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องการระบบการประเมินภาระทางสุขภาพที่วัดได้ (measurable) แม่นตรงและสะท้อนภาวะสุขภาพของประชากรที่เกี่ยวข้องกับการชะลอและการแก้ไข ความพิการของโรคเรื้อรัง

การศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยง ที่ผ่านมา สามารถบอกภาระทางสุขภาพในภาพรวมและเปรียบเทียบภาระทางสุขภาพระหว่างโรคภัย และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในเวลาที่เปลี่ยนไป รวมทั้งยังเชื่อมโยงกับ อายุคาดเฉลี่ย การตายที่ป้องกันได้และภาระทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญในการใช้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาในการลงทุนด้านสุขภาพ การจัดสรรทรัพยากร ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานของระบบสุขภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายของการทำให้ ประชากรมีสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวมีข้อจำกัดที่ต้องการการพัฒนาต่อไป ทั้งในเชิงคุณภาพและมาตรฐานของข้อมูลนำเข้า การตอบสนองประเด็นปัญหาและความท้าทายใหม่ๆรวมทั้งขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ ให้กว้างขวางขึ้น

การพัฒนาดัชนีประเมินภาระทางสุขภาพที่ เป็นระบบดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมี ยุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง เป็นระบบ มีมาตรฐาน และเชื่อมโยงการขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนาการศึกษาภาระโรคให้มีความต่อเนื่องในระยะต่อไปจึงมีความจำเป็นและ ต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อวางรากฐานการพัฒนาการวิจัยภาวะสุขภาพประชากรไทยให้ตอบสนองต่อความ ท้าทายต่อสุขภาพประชากรในอนาคต
กรอบแนวคิด
ข้อมูลภาระทาง สุขภาพของประชากรที่ถูกต้องและต่อเนื่องมีความสำคัญในการ บ่งชี้ขนาดและความสำคัญของปัญหาสุขภาพ ที่จำเป็นต่อการจัดสรรทรัพยากรและการจัดลำดับความสำคัญของการควบคุมป้องกัน โรคในการจัดการปัญหาสุขภาพของประเทศ อีกทั้งเป็นข้อมูลสำคัญในการใช้ประเมินเทคโนโลยี ผลกระทบจากนโยบายและมาตรการทางสุขภาพต่างๆ ซึ่งในกระบวนการวางแผนสาธารณสุขของประเทศจำเป็นต้องมีข้อมูลที่แสดงภาระทาง สุขภาพของประชากรในภาพรวมที่มีความแม่นตรงและสามารถเชื่อมโยงให้เกิดการนำไป ใช้ในการกำหนดและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของประเทศได้

ในการที่จะสามารถนำผลการศึกษาวิจัยไปสู่การกำหนดนโยบายและวางแผนที่มี ประสิทธิภาพนั้น สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศซึ่งเป็นแกนกลางของคณะทำงานศึกษา ภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย ควรมีบทบาทดังนี้

  1. เป็นแกนกลางทางวิชาการ พัฒนามาตรฐานการศึกษาภาระโรคและสุขภาพของประชากรไทยในระดับชาติ
  2. สร้าง ระดม ประสาน สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายนักวิชาการด้านดัชนีภาระสุขภาพ
  3. เผยแพร่ข้อมูลการศึกษา สื่อสารและสนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายของภาคีเครือข่าย

โดย มีคณะกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานเป็นผู้ชี้ทิศทางให้คำปรึกษาและ ประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงานและมีที่ปรึกษาทางวิชาการในประเด็น วิชาการต่างๆ เป็นผู้กำกับมาตรฐานทางวิชาการ อีกทั้งควรสามารถเชื่อมโยงกับแหล่งข้อมูลต้นทางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ ข้อมูลในระยะยาว

ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานในการพัฒนาดัชนี ประเมินภาระโรคและสุขภาพของ ประชากรไทย ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ให้ทันสมัย การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ การสื่อสารเพื่อสนับสนุนการแปลผลการวิจัยสู่นโยบาย การสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนในการทำงาน และการบริหารจัดการที่ดี

ยุทธศาสตร์ ทั้ง 5 ด้านนี้ ครอบคลุมการจัดการภายในและการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้ผลงานวิจัยที่ได้มีคุณภาพและมีข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและการพัฒนาสุขภาพของประชากรได้อย่างแท้ จริง โดยคาดหวังว่าภายในระยะเวลาดำเนินการ ผลงานวิจัยและข้อมูลที่ได้จะสามารถตอบคำถามที่จำเป็นในการกำหนดนโยบาย การจัดสรรทรัพยากร การกำหนดเป้าหมายและการติดตามผลลัพธ์การปฏิบัติงาน

วิสัยทัศน์
พัฒนาการ วัดภาระทางสุขภาพแบบองค์รวมของประชากรที่มีมาตรฐาน ในการติดตามผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชากรไทย เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายที่นำไปสู่สุขภาวะของสังคมไทย

พันธกิจ

  1. พัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยเครื่องชี้วัดภาวะสุขภาพ/ผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชากร
  2. พัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายวิชาการและการวิจัยเพื่อบอกภาวะสุขภาพ/ผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชากร
  3. พัฒนาและเชื่อมโยงการนำความรู้และผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและการสื่อสารสาธารณะ

ดัชนีภาระทางสุขภาพ (BOD) คืออะไร?

ดัชนีภาระทางสุขภาพ ภาระโรค (Burden of Disease: BOD) เป็นเครื่องชี้วัดความสูญเสียทางสุขภาพของประชากร โดยครอบคลุมทั้งความสูญเสียจากการตาย การเจ็บป่วย และความพิการ

แผนงานการพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย คือใคร ?

แผนงานการพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ IHPP กระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ(สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

blood-pressure2

BOD ทำงานศึกษาวิจัยและพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาการวัดภาระทางสุขภาพของประชากรที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับเชื่อมโยงเครือข่ายและสนับสนุนการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศโดยมีแนวทางหลักในการดำเนินงาน ๔ ด้านคือ

  1. พัฒนาการจัดทำดัชนีภาระสุขภาพที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ
  2. พัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายในการจัดทำและใช้ประโยชน์จากดัชนีภาระสุขภาพ
  3. สื่อสารผลการศึกษาไปสู่ผู้กำหนดนโยบาย
  4. พัฒนาศักยภาพองค์กรให้เป็นแหล่งเรียนรู้และขยายเครือข่ายในระดับประเทศและภูมิภาค
  1. การศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บของประเทศไทยระดับประเทศและเขตสุขภาพ
  2. การศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย
  3. การประเมินและคาดการณ์ภาระโรคและการบาดเจ็บในอนาคต
  4. การคาดการณ์อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาวะในอนาคต
  5. การศึกษาแนวโน้มการตายก่อนวัยอันควรของประชากรไทย
  6. การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลสาเหตุการตายของประเทศ
  7. การศึกษาภาระโรคที่หลีกเลี่ยงได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
  8. การศึกษาความแตกต่างของภาระโรคตามพื้นที่และปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม
  9. การประเมินความเปลี่ยนแปลงของภาระโรคจากมาตรการเฉพาะโรคที่สำคัญ