การคาดการณ์ผลกระทบทางอ้อมจากการระบาดของโรค COVID-19 ต่อการตายที่เพิ่มขึ้นของมารดาและเด็ก ในประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ “การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ในปัจจุบันทำให้มีผู้เสียชีวิต
ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการสุขภาพอื่นๆ องค์กรด้านสุขภาพของโลกได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศมีการบริหารจัดการจัดสรรทรัพยากรและการให้บริการสุขภาพกับประชาชนในช่วงที่มีการรระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งการคาดการณ์ผลกระทบทางอ้อมต่อการตายที่เพิ่มขึ้นของมารดาและเด็กในประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ จากการแทรกแซงของการระบาดของโรค COVID-19 ในสถานการณ์จำลองที่แตกต่างกัน พบว่า การตายของมารดาต่อเดือนจะเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 8.3 – 38.6 จากการติดเชื้อ เลือดออกหลังคลอด และภาวะครรภ์เป็นพิษ และการตายของเด็กต่อเดือนจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.8 – 44.7 จากการติดเชื้อ ปอดบวม และภาวะท้องร่วง”
สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบันทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคม 2563 ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตสูงกว่า 237,000 ราย และคาดการณ์จะมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านราย องค์กรด้านสุขภาพของโลกได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศมีการบริหารจัดการจัดสรรทรัพยากรและการให้บริการสุขภาพกับประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโรคดังกล่าว การระบาดของโรคที่ผ่านมา เช่น Ebola virus disease ในปี 2014 พบว่า การใช้บริการรวมถึงการให้บริการผู้ป่วยลดลงในประเทศแถบแอฟริการตะวันตก และการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ปี 2003 ในประเทศไต้หวัน พบการลดลงของการให้บริการผู้ป่วยนอกและใน ดังนั้น จึงมีการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทางอ้อมจากการระบาดของโรค COVID-19 ต่อการตายที่เพิ่มขึ้นของมารดาและเด็กที่มีอายุต่ำว่า 5 ปี จากการลดลงของการเข้าถึงและให้บริการสุขภาพ รวมถึงวิกฤตขาดแคลนอาหาร
แผนภาพ 1 การจำลองสถานการณ์ (Scenarios) ของการศึกษา
การศึกษาของ Timothy และคณะ พัฒนาแบบจำลองจากกรอบแนวคิดระบบสุขภาพ 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ความพร้อมของผู้ให้บริการสุขภาพ 2) ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 3) ความต้องการใช้บริการ และ 4) การเข้าถึงบริการ และจำลอง 3 สถานการณ์ (Scenarios) ในการคาดการณ์การตายที่เพิ่มขึ้นของมารดาและเด็ก (แผนภาพ 1) ดังนี้
สถานการณ์ที่ 1 จำลองการลดลงระดับน้อยของความพร้อมของบุคลากรทางสุขภาพและการให้บริการ รวมถึงการต้องการใช้บริการและเข้าถึงบริการสุขภาพ
สถานการณ์ที่ 2 จำลองการลดลงที่ปานกลางในด้านความพร้อมของบุคลากรทางสุขภาพและการให้บริการ
สถานการณ์ที่ 3 จำลองการลดลงที่มาก ด้วยสถานการณ์ที่รัฐบาลกำหนดให้มีระงับการเดินทาง การเว้นระยะระหว่างบุคคล รวมถึงให้มีการกักตัวในผู้ที่มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ
นอกจากนี้ การจำลองแต่ละสถานการณ์ข้างต้น ได้นำสัดส่วนภาวะผอมในเด็ก (Wasting) สำหรับการคาดการณ์การตายที่เพิ่มขึ้นในเด็ก โดยให้การเพิ่มของสัดส่วนภาวะผอม ร้อยละ 10 ในสถานการณ์ที่ 1 และร้อยละ 20 ร้อยละ 50 ในสถานการณ์ที่ 2 และ 3 ตามลำดับ เพื่อสะท้อนความยากลำบากของการเข้าถึงอาหารหรือการขาดแคลนอาหารจากการแทรกแซงของการระบาดของโรค COVID-19
การศึกษาใช้ข้อมูลทุติยภูมิของ 118 ประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 97.7 ของประเทศรายได้ปานกลางและต่ำทั่วโลก และใช้โปรแกรม Lives Saved Tool ในการคาดการณ์การตายที่เพิ่มขึ้นของมารดาและเด็กต่อเดือน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการคำนวณการตายรายสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของความครอบคลุมของการให้บริการสุขภาพ (Intervention coverage change) ประสิทธิภาพของกิจกรรมในแต่ละสาเหตุการตาย (Intervention effectiveness for that cause) และร้อยละของความไวของสาเหตุการตายจากกิจกรรม (The percentage of cause-specific mortality sensitive to that intervention) และดำเนินการวิเคราะห์คาดการณ์ต่อใน 3, 6, และ 12 เดือน
การคาดการณ์การตายที่เพิ่มขึ้นของมารดาและเด็กที่มีอายุต่ำว่า 5 ปี จากการระบาดของโรค COVID-19 แสดงให้เห็นว่า การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการลดลงของการเข้าถึงและให้บริการสุขภาพ รวมถึงก่อให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร ใน 118 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับการตายที่เป็นฐาน (Baseline death) การตายของมารดาต่อเดือนจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.3 – 38.6 โดยในสถานการณ์ที่ 1 (การลดลงของความครอบคลุมน้อย) จำนวนการตายของมารดาเพิ่มขึ้น 2,030 รายต่อเดือน และสถานการณ์ที่ 3 (การลดลงของความครอบคลุมมาก) จำนวนการตายของมารดาเพิ่มขึ้น 9,450 รายต่อเดือน (ตาราง 1)
การตายของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 – 44.7 โดยในสถานการณ์ที่ 1 (การลดลงของความครอบคลุมน้อย) จำนวนการตายของเด็กเพิ่มขึ้น 42,240 รายต่อเดือน และสถานการณ์ที่ 3 (การลดลงของความครอบคลุมมาก) จำนวนการตายของเด็กเพิ่มขึ้น 192,830 รายต่อเดือน (ตาราง 1)
การคาดการณ์การตายที่เพิ่มขึ้นใน 6 เดือน ภายใต้สถานการณ์ที่ 1 (การลดลงของความครอบคลุมน้อย) แสดงให้เห็นว่า การตายของมารดาจะเพิ่มขึ้นกว่า 12,220 ราย และการตายของเด็กจะเพิ่มขึ้น 253,000 ราย และภายใต้สถานการณ์ที่ 3 (การลดลงของความครอบคลุมมาก) การตายของแม่จะเพิ่มขึ้น 56,700 ราย และการตายของเด็กจะเพิ่มขึ้น 1,157,000 ราย (ตาราง 1 และแผนภาพ 2)
การลดลงของความครอบคลุมของการให้บริการสุขภาพใน 4 กิจกรรม ได้แก่ parenteral administration of uterotonics, antibiotics, anticonvulsants และ clean birth environments มีผลต่อการตายที่เพิ่มขึ้นในมารดาจากสาเหตุการติดเชื้อ เลือดออกหลังคลอด และภาวะครรภ์เป็นพิษ สูงถึงร้อยละ 60 ของการตายในมารดา ขณะที่ความชุกของภาวะผอมในเด็กที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลต่อการตายที่เพิ่มขึ้นในเด็กจากการติดเชื้อ ปอดบวม และภาวะท้องร่วงสูงถึงร้อยละ 41 ของการตายในเด็ก
ผลการศึกษาของ Timothy และคณะ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบทางอ้อมเฉพาะต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการตายของมารดาและเด็ก ซึ่งผู้กำหนดนโยบายต้องวางแผนในการจัดสรรบุคลากรและทรัพยากร รวมถึงจัดลำดับความสำคัญในการให้บริการเพื่อรองรับการให้บริการมารดาและเด็ก รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เพื่อให้ระบบการให้บริการสุขภาพกลับมาสู่ภาวะปกติ
Timothy Roberton, Emily D Carter, Victoria B Chou, Angela R Stegmuller, Bianca D Jackson, Yvonne Tam, Talata Sawadogo-Lewis, Neff Walker.
Early estimates of the indirect effects of the COVID-19 pandemic on maternal and child mortality in low-income and middle-income countries: a modelling study. Lancet Glob Health 2020, May 12, 2020 https://doi.org/10.1016/S2214-109X(20)30229-1
เรียบเรียงโดย รักษพล สนิทยา แผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)